Menu Close

ข้อบังคับสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย

หมวดที่ 1 บททั่วไป
ข้อ 1. สมาคมนี้มีชื่อว่า “สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย” นขท. มีชื่อภาษาอังกฤษว่า “WRITERS ASSOCIATION OF THAILAND” ใช้อักษรย่อว่า W.A.T.
ข้อ 2. เครื่องหมายของสมาคม ปากไก่สีฟ้าเข้มประทับบนเปลวเทียนสีทองและตัวหนังสือ “สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย”
ข้อ 3. สำนักงานสมาคม 31 ถนนกรุงเทพ-นนท์ 33 บางซื่อ กท.10800 โทรศัพท์ 02-9109565

หมวด 2 วัตถุประสงค์
ข้อ 4. สมาคมนี้มีวัตถุประสงค์
ก. เพื่อส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าในด้านการเขียนให้ได้มาซึ่งสิ่งที่มีคุณค่าในวรรณศิลป์
ข. เพื่อเชิดชูยกย่องวรรณกรรมที่มีคุณค่าของนักเขียน และเผยแพร่ให้เป็นที่ประจักษ์
ค. เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสวัสดิภาพและความมั่งคงของนักเขียน
ง. เพื่อเป็นที่ชุมนุมพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ ตลอดจนส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างนักเขียนไทย และนักเขียนนานาชาติ
จ. เพื่อเชิดชูและร่วมมือกันในการเผยแพร่วัฒนธรรมด้านวรรณกรรมของมนุษยชาติ โดยปราศจากความขึ้งเคียดทางสัญชาติหรือทางการเมือง

หมวด 3. สมาชิกภาพ
ข้อ 5. สมาชิกของสมาคมแบ่งออกเป็น 3 ประเภท
ก. สมาชิกกิตติมศักดิ์ ข. สมาชิกสามัญ ค. สมาชิกวิสามัญ
ข้อ 6. สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลซึ่งมีความสนใจใจกิจการของสมาคม และกรรมการบริหารของสมาคมมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้เชิญเป็นสมาชิก
ข้อ 7. สมาชิกสามัญ ได้แก่ บุคคลที่มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
ก. เป็นนักเขียนนวนิยาย เรื่องสั้น บทละคร ภาพยนตร์ บทร้อยกรอง บทความสารคดี อย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งมีผลงานปรากฏแก่ประชาชนตามสมควรเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี ก่อนวันสมัครเข้าเป็นสมาชิก ทั้งนี้ให้อยู่ในดุลพินิจของคณะกรรมการบริหารของสมาคม
ข. เป็นบุคคลที่กรรมการบริหารของสมาคมพิจารณาแล้ว ยอมรับว่ามีงานเป็นวรรณศิลป์
ข้อ 8. สมาชิกวิสามัญ ได้แก่ บุคคลที่มีคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
ก. เป็นผู้ซึ่งมีคุณสมบัติตามข้อ 7 แต่ยังไม่ครบกำหนดเวลา 3 ปี
ข. เป็นบรรณาธิการหรือเจ้าของหนังสือพิมพ์
ข้อ 9. บุคคลใดประสงค์จะสมัครเป็นสมาชิกสามัญหรือวิสามัญให้ยื่นใบสมัครตามแบบพิมพ์ของสมาคมต่อเลขาธิการสมาคม ซึ่งจะประกาศการสมัครไว้ ณ ที่ทำการของสมาคมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน ถ้าไม่มีผู้คัดค้านเป็นลายลักษณ์อักษร ให้เลขาธิการนำเสนอขออนุมัติต่อคณะกรรมการบริหาร เมื่อได้รับอนุมัติแล้วให้เลขาธิการแจ้งให้ผู้นั้นทราบเป็นลายลักษณ์อักษรพร้อมกับส่งข้อบังคับสมาคมไปให้ด้วย เมื่อผู้สมัครได้ทราบและได้ชำระค่าธรรมเนียมแรกเข้าและค่าบำรุงแล้วจึงถือว่าสมาชิกภาพเริ่มต้น
ข้อ 10 ส่วนสมาชิกกิตติมศักดิ์นั้นให้คณะกรรมการบริหารของสมาคมส่งหนังสือเชิญเป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อผู้รับเชิญตอบรับแล้ว จึงจะถือว่าเป็นสมาชิก
ข้อ 11. ค่าสมัครและค่าบำรุงสมาชิกใหม่ทุกประเภท ยกเว้นสมาชิกกิตติมศักดิ์ ต้องเสียค่าธรรมเนียมแรกเข้าเป็นสมาชิกคนละ 20 บาท และเสียงค่าบำรุงสมาชิกดังนี้
ก. สมาชิกสามัญตลอดชีพ ชำระค่าบำรุงครั้งเดียว 1,000 บาท
ข. สมาชิกสามัญ ชำระค่าบำรุงเป็นรายปี ปีละ 100 บาท หรือ ชำระเป็นรายเดือน เดือนละ 10 บาท
ค. สมาชิกวิสามัญ ชำระค่าบำรุงเป็นรายปี ปีละ 50 บาท
ง. สมาชิกกิตติมศักดิ์ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงรายปี
ข้อ 12. สมาชิกภาพย่อมสิ้นสุดังนี้
ก. ตาย ข. ลาออก
ค. ถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนเพราะมีความประพฤติในทางที่จะนำความเสื่อมเสียมาสู่สมาคม
ง. ไม่ชำระค่าบำรุงหรือหนี้สินที่มีต่อสมาคม ทั้งนี้โดยได้รับหนังสือเตือนจากเลขาธิการสมาคมแล้ว 3 ครั้ง ในระยะเวลาห่างกัน 15 วัน นอกจากคณะกรรมการบริหารของสมาคมจะวินิจฉัยเป็นอย่างอื่น

หมวด 4 สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก
ข้อ 13. สมาชิกมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น ปรึกษาหารือ ขอความช่วยเหลือต่อคณะกรรมการบริหารของสมาคมเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของสมาคม
ข้อ 14. สมาชิกย่อมได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ อันพึงมีพึงได้จากการดำเนินงานของสมาคมเพื่อให้ได้ผลตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวแล้ว
ข้อ 15. สมาชิกมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตนตามข้อบังคับของสมาคม ช่วยเหลือกิจการ และบำเพ็ญตนตามวัตถุประสงค์ของสมาคม
ข้อ 16. สมาชิกสามัญเท่านั้นที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน ส่วนสมาชิกกิตติมศักดิ์และสมาชิกวิสามัญมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับสมาชิกสามัญ แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่
ข้อ 17. เป็นหน้าที่ของสมาชิกที่จะนำส่งค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงใด ๆ แก่เจ้าหน้าที่ของสมาคมเมื่อถึงกำหนดเวลาที่จะต้องชำระ
ข้อ 18. สมาชิกจำนวนตั้งแต่ 30 คนขึ้นไป มิสิทธิเรียกร้องให้เปิดประชุมใหญ่เพื่อพิจารณาถึงปัญหารีบด่วนอันอาจเกิดขึ้นและเกี่ยวข้องกับสมาคมและการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของสมาคม สิทธิดังกล่าวจะกระทำเพื่อให้มีการพิจารณาเปลี่ยนแปลงข้อบังคับของสมาคมก็ได้

หมวด 5 การบริหารของสมาคม
ข้อ 19. ให้คณะกรรมการบริหารของสมาคมเป็นผู้บริหารงาน ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ คณะกรรมการบริหารของสมาคมมีจำนวน 25 คน ให้ที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งจากสมาชิกสามัญ 17 คน และให้กรรมการบริหารที่ได้รับเลือก 17 คนนี้ ประชุมเลือกกรรมการอีก 8 คน โดยถือคะแนนเสียง 2 ใน 3 ของคณะกรรมการบริหารที่ประชุมอนึ่ง สมาชิกสามัญที่ได้รับการเสนอชื่อเพื่อเลือกตั้งต้องปรกฏตัวอยู่ในที่ประชุมใหญ่ด้วย
ข้อ 20. คณะกรรมการบริหารประชุมกันเองเพื่อเลือกตั้งนายกสมาคม 1 คน และอุปนายก 2 คน และให้เป็นหน้าที่ของนายกฯ และอุปนายกจะหารือกัน แต่งตั้งกรรมการประจำตำแหน่งดังต่อไปนี้
ก. เลขาธิการ 1 คน
ข. เหรัญญิก 1 คน
ค. นายทะเบียน 1 คน
ง. ปฏิคม 1 คน
จ. บรรณารักษ์ 1 คน
ฉ. สาราณียกร 1 คน
ช. ประชาสัมพันธ์ 1 คน
ซ. กรรมการประจำตำแหน่งอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการบริหารจะเห็นสมควร
ข้อ 21. กรรมการจะพ้นตำแหน่งต่อเมื่อไม่เข้าประชุมกรรมการ ติดต่อกัน 3 ครั้ง โดยไม่แจ้งเหตุผลเป็นลายลักษณ์อักษรต่อเลขาธิการ ก่อนหรือในวันประชุม นอกจากคณะกรรมการบริหารจะวินิจฉัยเป็นอย่างอื่น
ข้อ 22. คณะกรรมการบริหารมีหน้าที่ดำเนินกิจการของสมาคมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และดำรงตำแหน่งได้สมัยละ 2 ปี
ข้อ 23. นายกสมาคมอยู่ในตำแหน่งติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 สมัย
ข้อ 24. ถ้ากรรมการซึ่งที่ประชุมใหญ่เลือก ขาดจำนวนก่อนถึงสาระ ให้คณะกรรมการที่คณะกรรมการบริหารเป็นผู้เลือกขาดจำนวนก่อนถึงวาระ ให้คณะกรรมการบริหารเลือกสมาชิกสามัญเข้าดำรงตำแหน่งแทน
ข้อ 25. ในการประชุมคณะกรรมการ นายกฯเป็นประธานที่ประชุมโดยตำแหน่ง ถ้านายกไม่อยู่ ให้อุปนายกคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่แทน และถ้าอุปนายกไม่อยู่ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการที่อาวุโสสูงสุดเป็นประธาน
ข้อ 26. ให้มีการประชุมคณะกรรมการตามปกติอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง กรรมการตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปอาจมีหนังสือถึงนายกฯเสนอให้เปิดประชุมเป็นกรณีพิเศษเมื่อใดก็ได้และเลขาธิการจะต้องทำหนังสือเรียกประชุมกรรมการภายใน 7 วัน นับจากได้รับหนังสือบอกกล่าว กรรมการ 1 ใน 3 จึงจะเป็นองค์ประชุม

หมวด 6 การประชุมใหญ่
ข้อ 27. การประชุมใหญ่สามัญจัดให้มีขึ้นปีละครั้งในเดือนมกราคมเพื่อคณะกรรมการบริหารจะได้แถลงกิจการที่ได้ดำเนินมาในรอบปี และเลือกตั้งคณะกรรมการใหม่และแต่งตั้งผู้ตรวจสอบบัญชีเมื่อถึงวาระ
ข้อ 28. คณะกรรมการบริหารอาจมีมติให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญเมื่อใดก็ได้ และสมาชิกไม่ต่ำกว่า 30 คน อาจขอให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญโดยทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อยื่นต่อนายกฯหรือเลขาธิการ และคณะกรรมการจะต้องจัดให้มีการประชุมตามที่ร้องขอภายใน 20 วัน นับตั้งแต่ได้รับหนังสือนั้น
ข้อ 29. ให้เลขาธิการแจ้งกำหนดวัน เวลา สถานที่ และระเบียบวาระการประชุมใหญ่สามัญให้สมาชิกทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน
ข้อ 30. การประชุมใหญ่จะต้องมีสมาชิกมาร่วมไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 หรือ 30 คน จึงจะเป็นองค์ประชุมถ้าการประชุมครั้งแรกไม่ครบองค์ประชุมให้เลขาธิการนัดประชุมครั้งที่สองภายในเวลาห่างจากครั้งแรกอย่างน้อย 15 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน ในการประชุมครั้งที่ 2 นี้ สมาชิกจะมาเท่าใดก็ได้ ถือเป็นองค์ประชุมได้
ข้อ 31. ให้นายกเป็นประธานในการประชุมใหญ่สามัญ ถ้านายกไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้อุปนายกทำหน้าที่แทน ถ้าอุปนายกไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนใดคนหนึ่งหรือสมาชิกอาวุโสเป็นประธาน
ข้อ 32. การลงมติของที่ประชุมใหญ่ สมาชิกสามัญที่มาประชุมด้วยตนเองเท่านั้น จึงจะมีสิทธิออกเสียงได้โดยสมาชิก 1 นาย มีเสียง 1 เสียง มติที่ประชุมให้ถือตามเสียงข้างมาก เว้นไว้แต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ถ้ามีเสียงเสมอกัน ให้ประธานเป็นผู้ชี้ขาด

หมวด 7 การเงินของสมาคม
ข้อ 33. นายกสมาคมมีอำนาจสั่งจ่ายเงินเพื่อกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งของสมาคมได้ไม่เกินห้าพันบาท ถ้าเกินห้าพันบาทให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการ
ข้อ 34. การจ่ายเงินเพื่อกิจกรรมของสมาคมอย่างใดอย่างหนึ่งเกินกว่าหนึ่งหมื่นบาทจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ โดยมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของกรรมการที่มาประชุม
ข้อ 35. ให้เหรัญญิกมีเงินสำรองจ่ายไม่เกินสองพันบาท
ข้อ 36. การจ่ายเงินที่มีผู้บริจาคให้แก่สมาคมโดยระบุวัตถุประสงค์ในกสนใช้รวมทั้งดอกผลที่เกิดขึ้นจากเงินนั้นให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเงื่อนไขที่ผู้บริจาคกำหนดไว้
ข้อ 37. เงินนอกจากที่กล่าวไว้ในข้อ 35 ให้เหรัญญิกนำฝากไว้ในธนาคารหรือจัดหาดอกผล ทั้งนี้โดยได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ
ข้อ 38. การจ่ายเงินต้องมีหลักฐานเป็นเอกสารโดยมีลายมือชื่อของนายกหรืออุปนายก 1 คน กับเลขาธิการหรือเหรัญญิก 1 คน เป็นผู้ลงนามสั่งจ่ายจึงจะจ่ายได้
ข้อ 39. ให้เหรัญญิกทำบัญชีแสดงฐานะการเงินประจำเดือนเสนอต่อคณะกรรมการ และให้ทำบัญชีรับจ่ายและงบดุลประจำปีของสมาคมเสนอต่อที่ประชุม
ข้อ 40. ผู้สั่งจ่ายเงินต้องรับผิดชอบการจ่ายเงินผิดวัตถุปรางค์ของสมาคม ในกรณีที่การจ่ายเงินดังกล่าวได้รับอนุมัติหรือมติของคณะกรรมการ กรรมการทุกคนจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน ยกเว้นกรรมการที่มิได้เข้าร่วมประชุมหรือที่ไม่เห็นชอบกับการจ่ายเงินนั้น

หมวด 8 ทรัพย์สินของสมาคม
ข้อ 41. ในกรณีที่สมาคมมีความจำเป็นจะต้องขาย ยกให้ แลกเปลี่ยน จำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอันเป็นกรรมสิทธิ์ของสมาคม คณะกรรมการจะต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมด้วยคะแนนเสียงอย่างน้อย 3 ใน 4 ของกรรมการที่มาประชุม แล้วจึงนำเสนอที่ประชุมใหญ่เพื่อขออนุมัติ เมื่อที่ประชุมใหญ่อนุมัติด้วยคะแนนเสียงข้างมากแล้วจึงจะดำเนินการต่อไปได้

หมวด 9 ความสัมพันธ์กับสมาชิก
ข้อ 42. สมาคมจะถือเอาภูมิลำเนาของสมาชิกที่ปรากฏตามทะเบียนเป็นสถานที่ทำการติดต่อระหว่างสมาชิกกับสมาคมเท่านั้น สมาชิกผู้ใดย้ายที่อยู่จะต้องแจ้งให้นายทะเบียนทราบเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 15 วัน
ข้อ 43. ถ้าสมาคมติดต่อกับสมาชิก ณ ภูมิลำเนาตามทะเบียนที่สมาชิกแจ้งไว้ไม่ได้ สมาคมจะต้องประกาศเหตุที่ต้องการติดต่อไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงานของสมาคมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน เมื่อครบกำหนดให้ถือว่าสมาชิกผู้นั้นทราบคำแจ้งของสมาคมโดยชอบแล้ว

หมวด 10 ข้อการแก้ไขข้อบังคับ
ข้อ 44. การเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกข้อบังคับของสมาคมให้อยู่ในอำนาจของที่ประชุมใหญ่

หมวด 11 การเลิกสมาคม
ข้อ 45. หากสมาคมนี้จะต้องเลิกด้วยเหตุใดก็ตาม ให้ที่ประชุมใหญ่ของสมาคมเป็นผู้ชี้ขาดว่าควรจะมอบหรือโอนทรัพย์สินของสมาคมให้เป็นของนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสาธารณกุศลแห่งใด

หมวด 12 บทเฉพาะกาล
ข้อ 46. ในการประชุมก่อตั้งสมาคม เมื่อที่ประชุมรับรองร่างข้อบังคับของคณะกรรมการร่างข้อบังคับแล้วให้เลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชั่วคราวขึ้นชุดหนึ่งเพื่อดำเนินการจัดตั้งสมาคมและรับสมัครสมาชิกชุดแรก
ข้อ 47. ให้นำข้อความที่เกี่ยวกับการรับสมาชิกในหมวด 3 ว่าด้วยสมาชิกภาพมาใช้โดยอนุโลม
ข้อ 48. ให้คณะกรรมการบริหารชั่วคราวพิจารณาสอบสวนคุณสมบัติของผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกตามข้อบังคับโดยเคร่งครัด
ข้อ 49. เมื่อคณะกรรมการบริหารชั่วคราวได้ดำเนินการจัดตั้งสมาคมเรียบร้อยแล้ว ต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่เพื่อ
ก. รับรองสมาชิกชุดแรก
ข. เลือกตั้งคณะกรรมการบริหารของสมาคม
ข้อ 50. เมื่อการจัดตั้งสมาคมเรียบร้อย และที่ประชุมเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารตามข้อบังคับของสมาคมครบถ้วนแล้ว บทเฉพาะกาลนี้ไม่มีผลใช้บังคับ