Menu Close

สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย

สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย มีจุดกำเนิดในปี ๒๕๑๑ จากการที่ นายเลียว ศรีเสวก เจ้าของนามปากกา “อรวรรณ” นักประพันธ์เอก ป่วยหนัก เหล่านักเขียนโดยการนำของนายสุวัฒน์ วรดิลก ได้รวมตัวกันจัดงานชุมนุมน้ำใจในวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๑๑ เพื่อหาเงินช่วย “อรวรรณ” หลังจากการจัดงานครั้งนั้น นักเขียนทั้งหลายได้รวมตัวกันก่อตั้งชมรมนักเขียน ๕ พฤษภา และถือเอาวันที่ ๕ พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันฉัตรมงคล และเป็นวันมงคล เป็นวันของนักเขียน เพื่อร่วมชุมนุมกันเป็นประจำทุกปีมาจนปัจจุบัน

ชมรมนักเขียน ๕ พฤษภามีนายสุวัฒน์ วรดิลก เป็นประธานใน ๒ ปีแรก (๒๕๑๑-๒๕๑๒) นายอุทธรณ์ พลกุล เป็นประธานในปีต่อมา และในปี ๒๕๑๔ ชมรมนักเขียน ๕ พฤษภา ก็ได้ก่อตั้งเป็นสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๑๔ โดยการนำของผู้ก่อตั้งสามคนคือ นางสุภาว์ เทวกุล ณ อยุธยา, นายเสนีย์ บุษปะเกศ และนายถาวร สุวรรณ และผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคมฯคนแรกคือ นายอุทธรณ์ พลกุล

สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ใช้ชื่อย่อว่า นขท. ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “Writers` Association of Thailand ย่อเป็นภาษาอังกฤษว่า W.A.T. โดยมีเครื่องหมายของสมาคมฯ เป็นรูปปากไก่สีฟ้าเข้ม ประทับบนเปลวเทียนสีทอง และตัวหนังสือ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เมื่อแรกก่อตั้งใช้ที่ทำการชั่วคราวที่สมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ปัจจุบันมีสำนักงานถาวรตั้งอยู่ที่ เลขที่ ๓๑ ซอยเทวรัตน์ กรุงเทพ-นนท์ ๓๓ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดิน ๑๕๓ ตารางวา ซึ่งนายเสาว์ บุญเสนอ หรือ “ส.บุญเสนอ” เป็นผู้บริจาคให้เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ก่อนล่วงลับ

สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์ ๕ ข้อคือ

๑.เพื่อส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าในด้านการเขียน ให้ได้มาซึ่งสิ่งที่มีคุณค่าในวรรณศิลป์
๒.เพื่อเชิดชูยกย่องวรรณกรรมที่มีคุณค่าของนักเขียน และเผยแพร่ให้เป็นที่ประจักษ์
๓.เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสวัสดิภาพและความมั่นคงของนักเขียน
๔.เพื่อเป็นที่ชุมนุมพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ ตลอดจนส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างนักเขียนไทยและนักเขียนนานาชาติ
๕.เพื่อเชิดชูและร่วมมือกันในการเผยแพร่วัฒนธรรมด้านวรรณกรรมของมนุษยชาติ โดยปราศจากความขึ้งเคียดทางสัญชาติหรือทางการเมือง

สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยก่อตั้งมา ๓๖ ปี มีนายกสมาคม ๑๖ คนคือ นายอุทธรณ์ พลกุล,พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร,นายสด กูรมะโรหิต,นายเสนีย์ บุษปะเกศ,นายแก้ว อัจฉริยะกุล,นางสุภาว์ เทวกุล ณ อยุธยา,นายฉัตร บุณยะศิริชัย,นายทองใบ ทองเปาด์,ม.ล.มานิจ ชุมสาย,นายสุวัฒน์ วรดิลก,นายธนิต ธรรมสุคติ,นายประยอม ซองทอง,นางเพ็ญศรี เคียงศิริ,นายประภัสสร เสวิกุล,นายไมตรี ลิมปิชาติ และนางชมัยภร แสงกระจ่าง

กรรมการบริหารสมาคมฯแต่ละชุดมี ๒๕ คน มาจากการเลือกตั้งโดยที่ประชุมใหญ่ ๑๗ คนและอีก ๘ คนมาจากการเลือกของกรรมการ ๑๗ คน กรรมการบริหารงานได้สมัยละ ๒ ปี นายกสมาคมฯอยู่ในตำแหน่งติดต่อกันได้ไม่เกิน ๒ สมัย กรรมการแต่ละสมัยจะกำหนดนโยบายขึ้นโดยให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของสมาคมฯ

อุทธรณ์ พลกุล นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยคนแรก ได้กล่าวไว้ในคำปราศรัย เนื่องในวันนักเขียนเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๑๖ ว่า “นักเขียนทุกคนย่อมมีภาระหน้าที่ส่วนตนโดยปรากฏผลงานออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร และตีพิมพ์อยู่ตามหน้าหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ผลงานเหล่านี้จะคงทาบติดฝาผนังอันยาวเหยียดของกาลเวลาที่ไม่มีที่สิ้นสุด และยังคงห้อยแขวนอยู่ตามราวแห่งความคิดคำนึงในภายหลัง ไม่ว่าผลงานนั้นจะเป็นมาในอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคตข้างหน้า”

สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยมีภารกิจในการช่วยส่งเสริมให้นักเขียนได้สร้างสรรค์ผลงานส่วนตน และช่วยยกย่องเชิดชูผลงานเหล่านั้นให้ประจักษ์แก่สาธารณชนทั้งในสังคมไทยและในสังคมโลก รวมทั้งเป็นศูนย์กลางให้นักเขียนได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน และช่วยเหลือคุ้มครองและส่งเสริมสวัสดิภาพให้นักเขียนเท่าที่จะสามารถทำได้ด้วย

นักเขียนเหมือนดวงดาวในจักรวาล
มีเป็นล้านล้านดวงอสงไขย
ทั้งที่สุกสกาวพราวแสนไกล
และที่ใกล้เพียงแต่แค่เอื้อมมือ
สมาคมฯเป็นเพียงผู้ชี้ดาว
เพียงโน้มน้าวน้อมนำทำเป็นสื่อ
บางเวลาเปิดสิ่งปกหรือรกรื้อ
เพื่อชี้ว่านี่คือเหล่าดวงดาว
เพื่อชี้ว่าท่านคือหนึ่งดวงดาว
(ชมัยภร แสงกระจ่าง)
—————–