Menu Close

คอลัมน์

ปกิณกะ
ขยายเวลา รักนะจึงบอก… ประกวดเรื่องเล่าทางการแพทย์
(13 Jan 2016 16:07:56 pm)
โพสต์โดย : suisia
อ่าน : 2163
ขยายเวลา รักนะจึงบอก…
ระกวดเรื่องเล่าทางการแพทย์
จาก 31 มกราคม 2559 เป็นหมดเขต 29 กุมภาพันธ์ 2559
 
รักนะจึงบอก… ประกวดเรื่องเล่าทางการแพทย์
theme คือเพราะรักนะจึงบอก
จุดมุ่งหมาย 
แพทยสภาเห็นความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วย จึงจัดให้มีการประกวด…สารคดีเรื่องเล่า เพื่อความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีงามระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วย ประชาชนกับแพทย์ และแพทย์กับแพทย์
เป้าหมาย 
ผู้สนใจทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ หรือประชาชน ส่งผลงานเข้าประกวด เป็นเรื่องเล่าประเภทสารคดี โดยเขียนถึงแพทย์บุคลากรทางการแพทย์ หรือประชาชน เกี่ยวกับการแพทย์ ตามหัวข้อรักนะจึงบอก เพื่อมีการปรับปรุงหรือสนับสนุนสิ่งที่ดีทางการแพทย์
กติกา
1.ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดมีสิทธิ์ส่ง ได้เพียง 1 เรื่อง เป็นเรื่องจริงที่เขียนขึ้นใหม่ ประเภทเรื่องเล่า ในหัวข้อ “เรื่องเล่าทางการแพทย์ รักนะจึงบอก …” โดยให้ตั้งชื่อเรื่องใหม่ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการทำงานของแพทย์ หรือสัมพันธภาพระหว่างแพทย์กับแพทย์/บุคลากรทางการแพทย์ และสัมพันธภาพระหว่างแพทย์กับประชาชน โดยสร้างสรรค์เป็นภาษาไทยมีความยาวของเรื่อง 5-10 หน้ากระดาษ A4 ขนาดตัวอักษร 16 pointโดยส่งต้นฉบับและสำเนารวม 5 ชุด พร้อมกับแผ่น CD ไฟล์ต้นฉบับ
2.ผลงานต้องไม่เคยส่งเผยแพร่ในรูปแบบสื่อใดๆ มาก่อนรวมทั้งไม่ได้ลอกเลียนแบบ ดัดแปลงหรือละเมิดลิขสิทธิ์ จากเรื่องใดเรื่องหนึ่งจากงานสร้างสรรค์ของผู้ใด
3.ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดต้องแจ้งชื่อ นามสกุลจริง ที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้สะดวก
สถานที่ติดต่อส่งผลงาน สามารถส่งผลงาน 
โครงการ “รักนะจึงบอก…เรื่องเล่าทางการแพทย์” มาที่ ฝ่ายเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการแพทยสภา ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข อาคาร 6 ชั้น 7 ถ.ติวานนท์ ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000 โทร.02-5901886 มือถือ 089-5301112
e-mail:[email protected] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.tmc.or.th, www.facebook.com/pages/We Love แพทยสภา
กำหนดการส่งต้นฉบับได้ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2558 จนถึง 29 กุมภาพันธ์ 2559
รางวัลการประกวด
รางวัลที่ 1 ประเภทบุคลากรทางการแพทย์และประชาชน รางวัลละ 15,000 บาท รวม 2 รางวัล
รางวัลที่สอง ประเภทบุคลากรทางการแพทย์และประชาชน รางวัลละ 10,000 บาท รวม 2 รางวัล
รางวัลชมเชย 10 รางวัล รางวัลละ 5,000 บาท
แพทย์หญิงชัญวลี ศรีสุโข
กรรมการ และโฆษกแพทยสภา
ประธานโครงการ รักนะจึงบอก

อ่านต่อ…

กิจกรรมสมาคมนักเขียน
เปิดอบรมโรงเรียนนักเขียน รุ่น ๒๒ (การเขียนกวีนิพนธ์) 
(19 May 2015 14:00:10 pm)
โพสต์โดย : midorikwa
อ่าน : 2092
เปิดรับสมัครผู้สนใจในโครงการโรงเรียนนักเขียน รุ่น ๒๒ (การเขียนกวีนิพนธ์)
โครงการโรงเรียนนักเขียน โดยสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
จัดกิจกรรมอบรมการเขียน รุ่นที่ ๒๒ เรื่อง “การเขียนกวีนิพนธ์”
โดยวิทยากรประสบการณ์สูงจากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
วันเสาร์ที่ ๓๐ และ วันอาทิตย์ที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๘
เวลา ๐๘.๓๐. – ๑๖.๓๐ น. ณ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
เลขที่ ๓๑ ถ.กรุงเทพฯ-นนท์ ๓๓ เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ ๑๐๘๐๐
ค่าใช้จ่ายท่านละ ๙๐๐ บาท (รวมอาหารกลางวัน+อาหารว่างตลอดการอบรม)
ทุกท่านที่ลงทะเบียนและอยู่อบรมครบวันจะได้รับเกียรติบัตรรับรองหลังการอบรม
สนใจเข้าร่วมอบรมสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่…
คุณฉัตรชัย คุ้มอนุวงศ์ เจ้าหน้าที่สมาคมนักเขียนฯ โทร. ๐ ๒๙๑๐ ๙๕๖๕
และ ๐๘ ๑๕๘๒ ๔๖๗๐ หรือ [email protected]

อ่านต่อ…

กิจกรรมสมาคมนักเขียน
นักเขียนกับอีบุคในยุคดิจิทัล
(19 May 2015 13:56:23 pm)
โพสต์โดย : midorikwa
อ่าน : 2080
นายกสมาคมนักเขียน บูรพา อารัมภีร นำทีมไปปรึกษาเรื่องอีบุค กับ ชาติ กอบจิตติ ที่บ้านสีคิ้ว
วันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม นี้ จะมีสัมมนาหัวข้อ นักเขียนกับอีบุคในยุคดิจิทัล โดย ชาติ กอบจิตติ / บูรพา อารัมภีร / ปฐม อินทโรดม / เขมะศิริ นิชชากร ที่โรงแรมสุโกศล เวลา 13.00 น. เชิญทุกท่านที่สนใจนะคะ (สำรองทีนั่งได้ที่ 081 – 582 – 4670) หรือ อีเมล [email protected]

อ่านต่อ…

ข่าววรรณกรรม
รางวัลศรีบูรพาเกียรติยศ ในวาระ ๑๑๐ ปี “ศรีบูรพา”
(20 Apr 2015 13:48:46 pm)
โพสต์โดย : suisia
อ่าน : 2171
ที่  ว.๔ /๒๕๕๘                   กองทุนศรีบูรพา
                                                ถนนสุขุมวิท ๕๕ (ซอยทองหล่อ)
                พระโขนง กทม.๑๐๑๑๐
๑๙ เมษายน  ๒๕๕๘
เรื่อง  “รางวัลศรีบูรพาเกียรติยศ” ในวาระ ๑๑๐ ปี “ศรีบูรพา”
เรียน  สื่อมวลชน
ด้วย“รางวัลศรีบูรพา” เป็นรางวัลหนึ่งของ “กองทุนศรีบูรพา” ที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อรำลึกและเผยแพร่เกียรติประวัติของนายกุหลาบ  สายประดิษฐ์-“ศรีบูรพา” (พ.ศ.๒๔๔๘-๒๕๑๗) นักประชาธิปไตย นักเขียน และนักหนังสือพิมพ์คนสำคัญของไทยและของโลก   เป็นรางวัลที่มอบแก่ศิลปิน นักคิด นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์  ผู้มีผลงานอันทรงคุณค่า และมีชีวิตเป็นแบบอย่างการใช้ชีวิตที่ดีงาม  รวมทั้งเป็นแบบฉบับการสร้างสรรค์งานที่มีคุณค่าต่อสังคม โดยมีเงื่อนไขการพิจารณาดังนี้
๑.เป็นนักคิด  นักเขียน นักแปล กวี หรือนักหนังสือพิมพ์ที่มีชีวิตเป็นแบบอย่างการใช้ชีวิตที่ดีงามและแบบฉบับการสร้างสรรค์งานที่มีคุณค่าต่อสังคม และมนุษยชาติมาอย่างต่อเนื่อง  จนเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน เช่น “ศรีบูรพา”
๒.มีผลงานติดต่อกันมายาวนานไม่น้อยกว่า ๓๐ ปี และต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน
๓.ยังมีชีวิตอยู่ “กองทุนศรีบูรพา”ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๑ (เว้นพ.ศ.๒๕๓๓ ) มีผู้ได้รับรางวัลมาแล้ว  ๒๕ ครั้ง  มีผู้ได้รับรางวัล  ๒๖ คน และในปี ๒๕๔๘ ซึ่งเป็นปีครบรอบ ๑๐๐ ปีศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์) คณะอนุกรรมการฝ่ายรางวัลเกียรติคุณ ในคณะกรรมการจัดงาน ๑๐๐ ปี ศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์)ได้ประกาศมอบ “รางวัลเกียรติคุณ ๑๐๐ ปีศรีบูรพา”  ให้บุคคลผู้ทรงเกียรติอีก ๓ คน
สำหรับปี ๒๕๕๘ นี้ คณะกรรมการกองทุนศรีบูรพา  มีมติว่า เป็นปีครบรอบชาตกาล ๑๑๐ ปี “ศรีบูรพา” (กุหลาบ สายประดิษฐ์) จึงเห็นสมควรมอบรางวัลศรีบูรพาเกียรติยศเป็นกรณีพิเศษ   แด่นายอาจิณ จันทรัมพร  และนายช่วย พูลเพิ่ม สองบรรณาธิการผู้ล่วงลับ ผู้จุดประกายให้ชื่อ “กุหลาบ สายประดิษฐ์” และ “ศรีบูรพา” กลับมาโดดเด่นในสังคมไทยอีกครั้งหนึ่ง  นับแต่ปี ๒๕๒๙  เป็นต้นมาจวบจนปัจจุบัน
อนึ่ง พิธีมอบ  “รางวัลศรีบูรพา” กำหนดขึ้นพร้อมกับการจัดงาน “วันนักเขียน-๕ พฤษภา” ในวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๘  ณ  โรงแรมรัตนโกสินทร์ ซึ่งจัดโดยสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
จึงเรียนมาเพื่อทราบ  และขอเรียนเชิญมาร่วมงานเพื่อการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์รางวัลศรีบูรพาเกียรติยศ  ในวาระครบรอบ ๑๑๐ ปี “ศรีบูรพา” ด้วยจักเป็นพระคุณยิ่ง
ขอแสดงความนับถือ
                                              (นายประยอม  ซองทอง)
                                     ประธานคณะกรรมการกองทุนศรีบูรพา
โทร.๐๘๙-๑๑๔๕๓๕๓(ประยอม-ประธานกองทุน)
๐๘๙-๙๘๗๙๙๘๐ (ชมัยภร-กรรมการและเลขานุการกองทุนฯ)
……………………………………………………………………………………………………..
คำประกาศเกียรติคุณ
                                นายอาจิณ จันทรัมพร
                                นายช่วย พูลเพิ่ม
                        ผู้ได้รับ“รางวัลศรีบูรพาเกียรติยศ”
        ในวาระครบรอบชาตกาล ๑๑๐ ปี “ศรีบูรพา”(กุหลาบ สายประดิษฐ์)                                    ในปี  ๒๕๕๘
                                ———————-
        เนื่องจากในปี ๒๕๕๘  เป็นปีครบรอบชาตกาล ๑๑๐ ปี “กุหลาบ สายประดิษฐ์” หรือ “ศรีบูรพา” คณะกรรมการกองทุนศรีบูรพา  มีมติมอบรางวัลศรีบูรพาเกียรติยศแก่บรรณาธิการ ๒ ท่าน  ผู้ล่วงลับไปแล้วคือ อาจิณ จันทรัมพร  กับ ช่วย พูลเพิ่ม
อาจิณ จันทรัมพร เกิดเมื่อวันที่  ๔ พฤศจิกายน  พ.ศ.๒๔๖๒ ในครอบครัวของเกษตรกร  เป็นคนเรียนหนังสือดี  เรียนหนังสือเก่ง  ยุคสมัย  สภาพแวดล้อมและสถานะในปี พ.ศ. ๒๔๘๑  ส่งให้เขาจึงเรียนจบชั้นสูงสุดในสมัยนั้นคือชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖  จากโรงเรียนประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี   และได้เข้ารับราชการในตำแหน่งเสมียน  ในแผนกสรรพสามิต กรมสรรพสามิตของจังหวัดสุราษฎร์ธานี  ไต่เต้าในหน้าที่การงานจนกระทั่งได้เป็นสรรพสามิตจังหวัดในหลายจังหวัด  และสุดท้ายกลับมาเกษียณอายุในตำแหน่งสรรพสามิตจังหวัดสุราษฎร์ธานี
        แม้จะทำงานกรมสรรพสามิต  แต่นายอาจิณทำตนเป็นนักอ่านตลอดเวลา  พร้อมกันนั้นก็เป็นกวี เป็นนักเขียนไปพร้อมกันด้วย ทั้งนี้ เพราะเขารักการอ่านหนังสือ สะสมหนังสือ และเขียนหนังสือมาตั้งแต่ยังเด็ก  เมื่อเป็นนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕  เคย เขียนบทกวีชิ้นแรก ลงในหนังสือลูกเสือสยาม ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี  ต่อมามีบทกวีลงพิมพ์ในหนังสือประชาชาติรายสัปดาห์ ตลอดชีวิตรับราชการอยู่ นั้นได้เขียนหนังสือทั้งร้อยแก้ว ร้อยกรอง มีผลงานตีพิมพ์ในหน้าหนังสือพิมพ์ ตั้งแต่ยุคกรุงเทพวารสารศัพท์  ประชาชาติรายสัปดาห์ ท่องเที่ยวรายสัปดาห์ สยามรัฐรายวัน  ปาริชาติ สามทหาร วารสารตำรวจ  มักใช้ชื่อจริง ยกเว้นเขียนบทกวี  ใช้นามปากกา   เดือนดวงเดิม  หลังจากเกษียณอายุราชการแล้ว ในปีพ.ศ. ๒๕๒๖ ได้รับหน้าที่เป็นบรรณาธิการบริหารนิตยสาร เดือนเพ็ญ รายเดือน  ประมาณปีเศษ
ในปีพ.ศ. ๒๕๒๗   เป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์ดอกหญ้า  ได้จัดตั้งโครงการอนุรักษ์วรรณกรรมเก่าและหายาก ร่วมกับ ช่วย พูลเพิ่ม คนรักหนังสือและวรรณกรรมอีกคนหนึ่ง  ทั้งสองคนได้เป็นกำลังสำคัญในการติดต่อประสานงานกับคุณชนิด สายประดิษฐ์ จูเลียต นักแปล  ภรรยาของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ของานวรรณกรรมของกุหลาบ  สายประดิษฐ์  หรือ “ศรีบูรพา”  ไปจัดพิมพ์ขึ้นใหม่  ทำให้คนรุ่นเก่าได้หวนกลับมารำลึกงานเก่า และทำให้คนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสอ่านงานของ “ศรีบูรพา” และ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้ค้นหาและสนับสนุนให้มีการค้นหารวบรวมงานเก่าของกุหลาบ สายประดิษฐ์ จนเกิดนิพนธ์สาร  “ศรีบูรพา” เล่ม ๑ และเล่ม ๒ ขึ้นในวงวรรณกรรมไทย ซึ่งเป็นบทความที่หายากทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังได้นำผลงานดีดีของนักประพันธ์ชื่อดังท่านอื่นๆมาพิมพ์ซ้ำ เป็นการต่ออายุวรรณกรรมร่วมสมัยให้สังคมไทยอีกด้วย
ชีวิตของอาจิณ จันทรัมพร สะท้อนและเป็นกำลังใจให้กับคนรักวรรณกรรม แม้สูงวัยก็เริ่มงานสำคัญในทางวรรณกรรมได้เสมอ  และงานที่ทำก็ได้รับคำนิยมและชื่นชมยกย่องจนได้รับรางวัลเกียรติยศหลายรางวัล  อาทิ  รางวัล นักอนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น พ.ศ.๒๕๓๗ จากโครงการ อนุรักษ์วรรณกรรมเก่าและหายาก ของสำนักพิมพ์ดอกหญ้า,รางวัลบุคคลดีเด่นในงาน๑๐๐ ปี ของอำเภอเกาะสมุย สุราษฎร์ธานี  พ.ศ. ๒๕๔๐ ,  รางวัลนราธิป จากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๔๕,   รางวัลนักเขียนเกียรติยศ “ช่อการะเกด”จากสำนักช่างวรรณกรรม พ.ศ. ๒๕๕๐, รางวัลผู้สืบสานอนุรักษ์ภาษาและวรรณกรรมไทย จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๑  และได้รับเกียรติยกย่องเป็นปูชนียบุคคลด้านภาษาไทยดีเด่น ในวันภาษาไทยแห่งชาติ ของกระทรวงวัฒนธรรม พ.ศ. ๒๔๕๔
อาจิณ จันทรัมพรถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ เมื่อวันที่  ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๘  รวมอายุได้  ๙๕ ปี
ส่วนช่วย  พูลเพิ่ม เกิดเมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี  สำเร็จชั้นเตรียมอุดมศึกษาจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ปทุมวัน เคยศึกษาที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาสอบได้ประโยคครูพิเศษมัธยม (พ.ม.) ได้รับประกาศนียบัตรการวัดผลทางการศึกษาจากสำนัก Test Bureau มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร
เคยประกอบอาชีพครูในโรงเรียนเอกชนหลายแห่ง ต่อมาได้ทำงานที่แผนกพิสูจน์อักษร บริษัทไทยวัฒนาพานิช จำกัด มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการเขียนหนังสือเป็นอย่างมาก จึงได้รับมอบหมายงานสำคัญๆ มากมาย อาทิ เป็นคอลัมนิสต์สนุกกับภาษาไทย ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
เมื่อพ้นจากงานประจำ  เขาเข้าทำงานเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์ดอกหญ้า  ได้ร่วมกับนายอาจิณ จันทรัมพร  จัดทำโครงการอนุรักษ์วรรณกรรมเก่าและหายาก  และรับเป็นบรรณาธิการร่วมกับนายอาจิณ จันทรัมพร ศึกษา คัดสรรผลงานดีเด่นของนักเขียนเอกในอดีต อาทิ ผลงานของศรีบูรพา ยาขอบ มาลัย ชูพินิจ สันต์ เทวรักษ์ พ.เนตรรังษี สด กูรมะโรหิต สันตสิริ ป.บูรณปกรณ์ ร.จันทพิมพะ นายตำรา ณ เมืองใต้ อิศรา อมันตกุล ฮิวเมอริสต์     และนำต้นฉบับหายาก เหล่านี้มาตีพิมพ์อีกครั้งอย่างเป็นระบบ ในฐานะเอกสารชั้นต้นอันทรงคุณค่า ทั้งยังได้จัดทำ วารสารสวนหนังสือ ของสำนักพิมพ์เดียวกันมากกว่า ๓๐ เล่ม ซึ่งได้รวบรวมวรรณกรรมที่หาอ่านได้ยาก โดยเฉพาะเรื่องสั้น พร้อมทั้งแนะนำชีวิตและงานของนักเขียนชื่อดังกับนักกวีในอดีต โดยเขียนบทความลงในวารสารฉบับนี้เป็นประจำ
นอกจากนั้นยังสร้างสรรค์ผลงานของตนเองอีกหลายเล่ม เช่น สนุกกับภาษาไทย, ภาษาพาเพลิน,เขียนให้ถูกใช้ให้เป็น, ผู้ชนะสิบทิศ (ฉบับอ่านเอาเรื่อง), ผู้ชนะสิบทิศฉบับย่อของ ยาขอบ และอักษราภรณ์ ภาษาสวรรค์ใน ผู้ชนะสิบทิศ ตามสำนวนยาขอบ (รวบรวมและเรียบเรียง) โดยใช้นามจริงและนามปากกาอื่น เช่น อักษราภรณ์
ผลงานการเป็นบรรณาธิการ การค้นคว้า และการรวบรวมวรรณกรรมเก่าและหายากของท่าน ได้มีโอกาสในการรื้อฟื้นวรรณกรรมเก่าและหายาก ทำให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าใจ เห็นคุณค่าของนักเขียนและวรรณกรรมในอดีต นับเป็นการเชื่อมต่ออดีตเข้ากับปัจจุบันได้เป็นอย่างดี เป็นผลให้ “โครงการอนุรักษ์วรรณกรรมเก่าและหายาก” ได้รับรางวัลอนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ และคอลัมน์ “สนุกกับภาษาไทย” ได้รับการชมเชยจากราชบัณฑิตยสถาน การมีส่วนร่วมในการรณรงค์เกี่ยวกับภาษาไทย และยังได้รับยกย่องเป็นนักพิสูจน์อักษรดีเด่น ของบริษัทไทยวัฒนาพานิช จำกัด
      ในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ จากกระทรวงวัฒนธรรม และได้รับรางวัลนราธิป จากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย  พ.ศ.๒๕๕๗
        ช่วย  พูลเพิ่ม  ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ ๑๓ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘  รวมอายุได้ ๘๓ ปี
บทบาทของอาจิณ  จันทรัมพร และช่วย  พูลเพิ่ม  ทำให้นาม “ศรีบูรพา” และ “กุหลาบ  สายประดิษฐ์” กลับมาเป็นที่รู้จักของแวดวงวรรณกรรมไทยอีกครั้งหนึ่ง  ซึ่งนับเป็นข้อต่อสำคัญที่นำมาสู่การยืนยงของ “ศรีบูรพา” และกุหลาบ สายประดิษฐ์  จนปัจจุบันนี้
คณะกรรมการกองทุนศรีบูรพา  จึงเห็นสมควรประกาศเกียรติให้อาจิณ จันทรัมพร  และช่วยพูล เพิ่ม  เป็นผู้ได้รับรางวัลศรีบูรพาเกียรติยศ  ในวาระครบรอบชาตกาล  ๑๑๐ ปี “ศรีบูรพา” (กุหลาบ สายประดิษฐ์)ในปี ๒๕๕๘  นี้
                                                นายประยอม ซองทอง
                                                ประธานกองทุนศรีบูรพา
                                                ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๘
……………………………………………………………………………………………………..
                        รายนามผู้ได้รับรางวัลศรีบูรพา
                                 (๒๕๓๐-๒๕๕๗)
“กองทุนศรีบูรพา”ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๑ (เว้นพ.ศ.๒๕๓๓ )
มีผู้ได้รับรางวัลมาแล้ว  ๒๕ ครั้ง(เว้น พ.ศ.๒๕๓๓)  มีผู้ได้รับรางวัล  ๒๖ คน
ตามลำดับดังนี้
๑.นายศักดิชัย  บำรุงพงศ์ (“เสนีย์ เสาวพงศ์”)(๒๕๓๑)
๒.นางสาวอำพัน ไชยวรศิลป์ (“อ.ไชยวรศิลป์”)(๒๕๓๒)
๓. คุณนิลวรรณ  ปิ่นทอง(๒๕๓๔)
๔. นายอาจินต์ ปัญจพรรค์(๒๕๓๕)
๕.นายสุจิตต์ วงษ์เทศ(๒๕๓๖)
๖.นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์(“ส.ศิวรักษ์”)(๒๕๓๗)
๗.นายกรุณา กุศลาสัย(๒๕๓๘)
๘.นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์(๒๕๓๙)
๙.นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี(๒๕๔๐)
๑๐.นายวิทยากร เชียงกูล(๒๕๔๑)
๑๑.นางสุภัทร สวัสดิรักษ์(๒๕๔๒)
๑๒.นายสมชัย กตัญญุตานนท์ (“ชัย ราชวัตร”)(๒๕๔๓)
๑๓.นายเสถียร  จันทิมาธร(๒๕๔๔)
๑๔.นายนิธิ เอียวศรีวงศ์(๒๕๔๕
๑๕.นายธีรยุทธ บุญมี  ๑๖.นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล(๒๕๔๖)
๑๗.นายสมบูรณ์ วรพงษ์(๒๕๔๗)
๑๘.นายสุรชัย จันทิมาธร(๒๕๔๙)
๑๙.นายวัฒน์ วรรลยางกูร(๒๕๕๐)
๒๐.นายสุทธิชัย  หยุ่น (๒๕๕๑)
๒๑.นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ (๒๕๕๒)
๒๒.พระไพศาล วิสาโล(๒๕๕๓)
๒๓.นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ (๒๕๕๔)
๒๔.นายชัยวัฒน์ สถาอานันท์ (๒๕๕๕)
๒๕.นายธีรภาพ โลหิตกุล (๒๕๕๖)
๒๖.นางวรรณา สวัสดิ์ศรี (ศรีดาวเรือง) (๒๕๕๗)
อนึ่ง
๑.ในปี ๒๕๔๘ ซึ่งเป็นปีครบรอบ ๑๐๐ ปีศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์) คณะอนุกรรมการฝ่ายรางวัลเกียรติคุณ ในคณะกรรมการจัดงาน ๑๐๐ ปีศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์)ได้ประกาศมอบ “รางวัลเกียรติคุณ ๑๐๐ ปีศรีบูรพา”  ๓ สาขา ให้แก่ นายสุวัฒน์ วรดิลก สาขานักคิด-นักเขียน  นายขรรค์ชัย  บุนปาน สาขานักหนังสือพิมพ์ และศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก สาขานักต่อสู้เพื่อสันติภาพ
๒.ในปี ๒๕๕๘ ซึ่งเป็นปีครบรอบชาตกาล ๑๑๐ ปีศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์) คณะกรรมการกองทุนศรีบูรพา  ได้มีมติมอบรางวัลศรีบูรพาเกียรติยศเป็นกรณีพิเศษ  ให้บรรณาธิการผู้ล่วงลับไปแล้ว ๒ คน คือ นายอาจิณ  จันทรัมพร  และนายช่วย พูลเพิ่ม ในฐานะที่บรรณาธิการทั้งสองได้เป็นผู้จุดประกายให้นาม “ศรีบูรพา”และ “กุหลาบ สายประดิษฐ์”ฟื้นคืนสู่แวดวงวรรณกรรมไทย นับแต่ปี ๒๕๒๙ จวบจนปัจจุบัน

อ่านต่อ…

กิจกรรมสมาคมนักเขียน
ขอเชิญร่วมงาน “มิตรน้ำหมึก ผนึกสัมพันธ์ ’๕๘”
(16 Apr 2015 11:37:58 am)
โพสต์โดย : suisia
อ่าน : 2040
นขท. พิเศษ ๐๒๗ / ๒๕๕๘         สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
        ๓๑  ซอยกรุงเทพ-นนทบุรี                                                                          ๓๓ (เทวรัตน์)
                                                               ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี ๑๐๘๐๐
          ๑๖  เมษายน  ๒๕๕๘
เรื่อง ขอเชิญเข้าร่วมสังสันทน์ในงานวันนักเขียน
เรียน  สมาชิกสมาคมฯ ทุกท่าน
สิ่งที่ส่งมาด้วย กำหนดการวันนักเขียน
ด้วยวันที่ ๕ พฤษภาคม เป็นวันนักเขียน  สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ได้จัดงานวันนักเขียนขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อให้นักเขียนได้มีโอกาสพบปะเสวนา และร่วมกิจกรรมสังสันทน์
ในปี ๒๕๕๘ นี้ สมาคมนักเขียนฯ  กำหนดจัดงานวันนักเขียน ภายใต้ชื่อ “มิตรน้ำหมึก ผนึกสัมพันธ์ ’๕๘” ที่ห้องราชา โรงแรมรอยัลรัตนโกสินทร์  ถนนราชดำเนินกลาง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร โดยจัดร่วมกับพิธีมอบรางวัล “ศรีบูรพา” ของกองทุนศรีบูรพา ตามกำหนดการ และรายละเอียดอื่นๆ ที่ได้แนบมาพร้อมกับจดหมายฉบับนี้
ข้าพเจ้าในนามของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย จึงขอเรียนเชิญท่านสมาชิกสมาคมฯ ทุกท่านเข้าร่วมเป็นเกียรติ และสังสันทน์  ตามวันและเวลาดังกล่าว  ตามอัธยาศัย โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น  หากมีข้อสงสัยประการใด สอบถามได้ที่เจ้าหน้าที่สมาคมฯ  – นายฉัตรชัย  คุ้มอนุวงศ์ หรือที่  [email protected]
ขอแสดงความนับถือ
              (นายบูรพา อารัมภีร)
                        นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
โทร.  ๐๒ ๙๑๐ ๙๕๖๕ , ๐๘๑ ๕๘๒ ๔๖๗๐
ฉัตรชัย คุ้มอนุวงศ์  (เจ้าหน้าที่สมาคมฯ)
——————–
กำหนดการวันนักเขียน ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๘
“มิตรน้ำหมึก  ผนึกสัมพันธ์ ๕๘”
พิธีมอบรางวัล “ศรีบูรพา”
โรงแรมรอยัลรัตนโกสินทร์  ถนนราชดำเนินกลาง กรุงเทพฯ
ภาคเช้า – ณ สมาคมนักเขียน (ซอยกรุงเทพฯ – นนทบุรี ๓๓)
๑๐.๐๐ น. พิธีสงฆ์สวดเจริญพุทธมนต์ และถวายภัตตาหารเพล
อุทิศส่วนกุศลแด่เสาว์ – ศรีสุดา บุญเสนอ และนักเขียนผู้ล่วงลับ
๑๒.๐๐ น. รับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน
ภาคบ่าย – ณ โรงแรมรอยัลรัตนโกสินทร์  กรุงเทพฯ
ห้องราชา
๑๗.๓๐ น. ลงทะเบียน
๑๘.๐๐ น. พิธีมอบรางวัล “ศรีบูรพา”
คำประกาศจากกองทุนศรีบูรพา
มอบรางวัลศรีบูรพาเกียรติยศ ปี ๒๕๕๘
๑๘.๔๕ น.  เปิดงานวันนักเขียน โดยนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
๑๙.๐๐ น.พิธีคารวะอดีตนายกสมาคมนักเขียนฯ และนักเขียนผู้ใหญ่
– รับประทานอาหาร
– สังสันทน์  ภาคบันเทิง
– วรรณกรรมสัมพันธ์ผ่านบทกวี
๒๑.๓๐ น. ปิดงาน
————-
พิธีกร  :  คุณพัลลภ สามสี  และ ดร. เพชรยุพา บูรณ์สิริจรุงรัฐ
(กำหนดการนี้ อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม)

อ่านต่อ…