วรรณกรรมแม่น้ำโขง: สายสัมพันธ์เพื่อนบ้านผ่านตัวหนังสือ ตัวหนังสือของแต่ละชนชาติ สามารถเป็นสะพานแห่งมิตรภาพได้
นับเป็นเรื่องน่ายินดีและน่าภาคภูมิใจไม่น้อยที่ปีนี้วงการวรรณกรรมของไทยได้มีโอกาสเป็นหนึ่งในเจ้าของรางวัลแม่น้ำโขงอวอร์ด หรือชื่อสากลว่า The Mekong Literature Award ซึ่งทางสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยได้ส่งนักเขียนไปรับรางวัลถึงสามท่านด้วยกันคือ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กฤษณา อโศกสิน และธีรภาพ โลหิตกุล ทั้งสามถือเป็นตัวแทนนักเขียนไทยที่คับแน่นด้วยคุณภาพ สมศักดิ์ศรีกับรางวัลนานาชาติในครั้งนี้เช่นเดียวกัน
เมื่อเห็นว่าสบโอกาสที่จะให้แวดวงวรรณกรรมไทยได้รับรู้และรู้จักวรรรกรรมแม่น้ำโขงในวงกว้าง ทางสมาคมนักเขียนฯจึงได้จัดให้มีการเสวนาวรรณกรรมอุษาคเนย์ขึ้นในวันนักเขียน 5 พฤษภา 57 ณ สมาคมนักเขียนฯ โดยได้เชิญนักเขียนที่ได้รับรางวัลสองท่านคือ กฤษณา อโศกสิน และธีรภาพ โลหิตกุล พร้อมเจน สงสมพันธุ์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ขึ้นเวทีเสวนา โดยมีชมัยภร แสงกระจ่าง เป็นผู้ดำเนินรายการ
สำหรับรางวัลแม่น้ำโขงอวอร์ดนี้ เริ่มก่อตั้งขึ้นโดยการร่วมมือจาก 3 ประเทศในเขตลุ่มน้ำโขงคือ เวียดนาม กัมพูชา และลาวซึ่งมีการเชื่อมสัมพันธ์แลกเปลี่ยนด้วยความสนิทแน่นแฟ้น เพราะเป็นประเทศที่เคยร่วมต่อสู้กับฝรั่งเศสและอเมริกา โดยก่อตั้งรางวัลนี้ขึ้นมาเมื่อ 10 ปีที่แล้ว และมีการมอบรางวัลรวม 5 ครั้งทั้งครั้งนี้
เพื่อสร้างความสัมพันธ์ในระดับประชาชนและระดับวัฒนธรรม ประเทศไทยจึงได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ในการมอบรางวัลครั้งที่ 4 ที่ดานัง ประเทศเวียดนาม เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ก่อนตัดสินใจเข้าร่วม ทั้งนี้นายกสมาคมให้เหตุผลว่า เป็นการตัดสินในเดินหน้าเพื่อให้งานวรรณกรรมและวัฒนธรรมอันเสาหลักในสามเสาได้เข้ามาเป็นเสาค้ำจริงๆ เพราะภาครัฐจะเน้นแต่เรื่องเศรษฐกิจ-การลงทุน การเมือง เน้นเรื่องการได้ประโยชน์เสียประโยชน์เป็นสำคัญ ซึ่งอาจจะเกิดข้อขัดแย้งต่างๆ ขึ้นมาในอนาคตได้
ก้าวแรกของรางวัลแม่น้ำโขงอวอร์ด
อย่างที่ได้กล่าวไว้ว่าปีนี้เป็นปีแรกที่สมาคมนักเขียนฯได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งของรางวัลแม่น้ำโขงอวอร์ด โดยนักเขียนทั้งสามล้วนเขียนเรื่องราวที่มีแก่นแกนของชีวิตและผู้คนในลุ่มน้ำโขง อย่าง เขียนแผ่นดิน ของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ จำหลักไว้ในแผ่นดิน และ เสียงหัวเราะและน้ำตาในศิลานคร ของกฤษณา อโศกสิน และ ชายชรากับบ่วงกรรมและคำสาป ของธีรภาพ โลหิตกุล ซึ่งไม่ต้องบอกก็ทราบกันดีว่าผลงานของนักเขียนทั้งสามล้วนเป็นงานแนวหน้าของวงการวรรณกรรมไทย
ก่อนจะ...มีเสียงหัวเราะและน้ำตาในศิลานคร
การท่องเที่ยวใช่จะพบแต่สิ่งรื่นรมย์หรือรู้สึกอิ่มเอมใจทุกครั้ง หลายต่อหลายครั้งกลับพบกับสิ่งแปลกประหลาด คาดไม่ถึง หรือบางครั้งก็พบกับสิ่งที่ชวนหดหู่ เช่นเดียวกันกับที่กฤษณา อโศกสินได้ไปพบเจอในดินแดนกัมพูชาก่อนที่จะเขียนเป็นสารคดีชวนสะเทือนใจเรื่องนี้ ท่านได้เล่าว่า ครั้งนั้นไปเที่ยวกัมพูชาเมื่อครั้งที่เปิดประเทศใหม่ๆ คือปี 2535 ได้ไปดูพิพิธภัณฑ์ตวล สแลง ที่เก็บประวัติศาสตร์สมัยที่มีสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งดิฉันสะเทือนใจมาก โหดเหี้ยม สยดสยองมาก เพราะว่าในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีภาพของคนที่ถูกทรมานในห้องขังก็คือในตึกหลังนั้น ในลักษณะต่างๆ กัน บางคนก็ถูกไฟฟ้าช็อต บางคนก็ถูกรัดคอ คือตายด้วยสภาพต่างๆ แล้วเขาก็ยังเก็บประวัติศาสตร์อันนั้นไว้ ส่วนที่ค่ายเจืองเอ็ก ห่างจากที่นั้นไปหลายสิบกิโล ก็มีหลุมศพของประชาชนกัมพูชา บางหลุมก็มีเด็กและผู้หญิงล้วน ซึ่งสะเทือนใจมาก เขาฆ่าโดยใช้ขวานทุบ แล้วทุบลงหลุม มี 50 กว่าชีวิตดิฉันก็ประทับใจนครวัด นครธม ที่จะได้ไปชมในวันต่อไป แต่ว่ารู้สึกสะเทือนใจกับพิพิธภัณฑ์สองแห่งนี้มาก ก็เลยกลับมาเขียน เสียงหัวเราะและน้ำตาในศิลานคร เป็นสารคดีท่องเที่ยวลงในสกุลไทยรายสัปดาห์
ส่วนอีกเรื่องหนึ่งคือ จำหลักไว้ในแผ่นดิน เป็นนวนิยายเชิงประวัติศาสตร์ แม้จะไม่ได้สร้างพล็อตเรื่องขึ้นด้วยตนเอง แต่กฤษณา อโศกสินก็สร้างนวนิยายเรื่องนี้ได้อย่างน่าสะเทือนใจและอัศจรรย์ใจไปในขณะเดียวกัน ไม่เพียงแต่จะทำให้ผู้อ่านได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ระหว่างชายแดนไทยกัมพูชาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่นวนิยายเรื่องนี้เป็นเสมือนตัวเชื่อมความสัมพันธ์ที่จะทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกดี เห็นอกเห็นใจในชะตากรรมของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งพบเจอกับสิ่งเลวร้ายหลายต่อหลายครั้ง
ชายชรากับบ่วงกรรมและคำสาป...จุดจบของพอล พต
ช่วงสงครามเขมรแดง เป็นช่วงเวลาที่คนกัมพูชาทนทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสอันเนื่องจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของคนในชาติเดียวกัน ซึ่งผู้นำเขมารแดงคนนั้นก็คือ พอล พต แต่เรื่องราวของพอล พต ต้องเจอกับบ่วงกรรมอย่างไร และมันถือเป็นคำสาปที่ชาวเขมรได้สาปแช่งเขาหรือไม่ ซึ่งธีรภาพ โลหิตกุล ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องราวของพอล พตในการสร้างสรรค์งานสารคดีขึ้นมา ธีรภาพได้เล่าว่า วันที่พอล พต เสียชีวิต จะเผาเลยก็ไม่ได้ ต้องให้ผู้สื่อข่าวต่างประเทศมาเห็นก่อน เพราะว่าจะต้องให้คนถ่ายรูปเป็นหลักฐาน ก็ต้องเอาน้ำแข็งมาวางบนหน้าอกเป็นสัปดาห์ถึงจะเผา แล้วก็เหลือเชื่อ.. เพราะว่าวันที่มีการเผาผู้นำเขมรแดงนั้นมีแต่ลูกสาวกับภรรยาคนสุดท้ายของเขาที่เด็ดเอาดอกไม้มาวางที่ศพ เชื้อเพลิงก็คือโต๊ะ ตู้ เตียงที่ใช้ในชีวิตบั้นปลาย และยางรถยนต์ และวันนั้นเป็นวันเดียวกับที่เขาขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีของกัมพูชาในสมัยเขมรแดงที่ตั้งชื่อประเทศว่า กัมปูเจียประชาธิปไตย คือวันที่ 18 เมษายน 2518 วันเผานั้นคือ 18 เมษายน 2540 มันเป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อว่าชีวิตคนเรามันขึ้นสูงสุดกับต่ำสุดจะเป็นวันเดียวกัน
นอกจากนี้ ธีรภาพกล่าวว่าในความรู้สึกของตน ดินแดนอุษาคเนย์เป็นดินแดนที่มีความน่ามหัศจรรย์ มีเรื่องราวหลากรสชาติอีกทั้งยังมีความน่ารัก เช่นกรณีประเทศลาว ท่านอุตมะ จุลมะนี หนึ่งปัญญาชนคนหนุ่มในเวียงจันทร์ยุคที่ต่อสู้กับฝรั่งเศส ช่วงที่ได้รับเอกราชไม่กี่ปีก็ชวนเพื่อนๆ เอาเชือกมาคล้องอนุสาวรีย์มอปาวีออร์กุสปาวี ซึ่งเป็นข้าหลวงใหญ่ที่ฝรั่งเศสให้ปกครองลาว เป็นคนที่เอาเรือรบมาปิดปากอ่าวไทยกรณี ร.ศ. 112 ท่านอุตมะ จุลมะนีไปโค่นลงมาแล้วแบกไปทิ้งแม่น้ำโขง มันตรงกับที่นักร้องร้องเอาว่าเอาความขมขื่นไปทิ้งแม่โขง คำว่าทิ้งในภาษาไทย ลาวใช้ว่าทิ่ม ทิ่มลงของ แต่ฝรั่งเศสก็อุตสาห์ไปงมมาแล้วเอาไปตั้งที่สถานทูตฝรั่งเศส ซึ่งก็ถือเป็นภาพน่ารักๆ ที่เกิดขึ้นในอาเซียน
ทางด้านเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ซึ่งเป็นหนึ่งนักเขียนที่ร่วมรับรางวัลครั้งนี้ก็ได้เขียนบทกวีในประเทศแถบอินโดจีน เริ่มจากเขียนบทกวีของประเทศไทย ก่อนจะเริ่มเขียนบทกวี เขียนแผ่นดิน ลาวและเวียดนาม โดยเดินทางไปยังประเทศนั้นๆ เพื่อให้เห็นความเป็นไปของผู้คน วัฒนธรรม ชีวิต ก่อนจะเขียนบทกวีสด ๆ รวมเป็นบทกวีเขียนแผ่นดิน
หน้าที่ของนักเขียนในฐานะทูตสันถวไมตรี
ต้องยอมรับในความสามารถของนักเขียนทั้งสามที่ได้ลงแรงกายแรงใจสร้างสรรค์ผลงานจนเป็นที่ยอมรับเช่นนี้ ทั้งนี้ กฤษณา อโศกสินได้กล่าวถึงดินแดนอุษาคเนย์ รวมถึงการเขียนของท่านว่า คนอื่นๆ ในดินแดนเหล่านี้เขาก็เป็นคนเช่นเดียวกับเรา มีคนดีคนไม่ดี ไปครั้งนี้ได้พบเห็นคนดีๆ เยอะ ก็เลยคิดว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนี้เราจะต้องต้องรักษา เวลาที่เขียนหนังสือดิฉันรู้สึกว่าตัวเองจะมีหน้าที่อยู่
อย่างหนึ่งว่าจะต้องเขียนในฐานะทูตสันถวไมตรี ดิฉันจะไม่เขียนอะไรที่ทำร้ายความเป็นมิตรระหว่างประเทศ ไม่ว่าเขาจะมีเรื่องส่วนตัวเลวร้ายที่สะเทือนใจเพียงใด เช่น ไปเห็นเรื่องความสยดสยองอย่างที่เล่ามาก็คิดว่ามันเป็นเรื่องของเขา เราไม่เกี่ยว ไม่ต้องไปเกลียดหรือไปรักมาก เราคิดถึงส่วนรวมของประเทศต่อประเทศว่าควรจะเป็นมิตรกัน เพราะเราก็เห็นแล้วว่าความขัดแย้งระหว่างประเทศมันนำความทุกข์ยากมาให้กับประชาคมโลกอย่างที่คาดไม่ถึงเหมือนกัน
ก่อนจะปิดท้ายการเสวนาในครั้งนี้ ธีรภาพ โลหิตกุลก็ได้กล่าวถึงการสานความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนว่าที่ผ่านมานั้นเคยเกิดความขัดแย้ง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยรัฐบาลเป็นไปในเชิงแข่งขันทางเศรษฐกิจมากกว่าความสัมพันธ์เชิงวัฒนธรรมหรือระหว่างประชาชนด้วยกัน ที่สมาคมนักเขียนฯ ดำเนินการมา ทำให้คนเกิดความเข้าใจกันในเรื่องวัฒนธรรม วรรณกรรมทำให้คนเข้าใจกันอย่างลึกๆ เพราะฉะนั้นอนาคตของแม่โขงอวอร์ดจะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งที่จะสร้างความเข้าใจในหมู่ชาวลุ่มน้ำโขงก่อนจะมีการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน เพราะฉะนั้นขอชื่นชมยินดีกับงานของสมาคมที่พยายามทำให้เกิดความสัมพันธ์กันระหว่างเพื่อนบ้าน การที่ผมได้รับรางวัลศรีบูรพาและรางวัลแม่น้ำโขงทำให้ผมคิดที่จะสร้างงานขึ้นมาเพื่อที่จะลบความเข้าใจผิดและอคติที่มีทั้งมวลให้ค่อยหมดๆ ไป
อีกไม่กี่วันประเทศไทยก็จะรวมเป็นอาเซียน หลายต่อหลายคนคาดเดาแต่เพียงว่าการแข่งขันจะเพิ่มสูงขึ้นเท่านั้น แต่น้อยคนที่จะคำนึงว่าวรรณกรรมเป็นตัวหนึ่งที่จะช่วยสร้างความแน่นแฟ้น และเมื่อประชาชนที่เคยอยู่ร่วมกันอย่างยาวนาน ได้ฟื้นฟูความเข้าใจร่วมกัน การเกิดความขัดแย้งหรือภาวะของการแข่งขันจะคลี่คลายด้วยความเข้าใจกันและกัน ซึ่งล้วนเป็นเรื่องของอนาคตที่ทุกฝ่ายจะต้องเรียนรู้ร่วมกัน
รางวัลวรณกรรมลุ่มน้ำโขง Mekong River Literature Award
รางวัลวรรณกรรมลุ่มน้ำโขง เป็นรางวัลนานาชาติเพื่อมอบให้แก่นักเขียนในประเทศลุ่มน้ำโขง โดยตระหนักว่าแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำแห่งอารยธรรมอันสำคัญ 1 ใน 10 ของโลก ก่อตั้งขึ้นมาจากประเทศที่มีความสัมพันธ์ในการร่วมสู้รบกับตะวันตกในอินโดจีน 3
ประเทศคือ เวียดนาม ลาว และกัมพูชา เมื่อ 10 ปีที่แล้ว โดยการมอบรางวัลได้จัดขึ้น 2 ปีต่อครั้ง หมุนเวียนเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพ โดยระยะแรกมีกองทุนสนับสนุนเรื่องเงินรางวัลจากประเทศเวียดนาม ต่อมาจึงให้ประเทศเจ้าภาพเป็นผู้ดำเนินการ
ประเทศไทย ได้รับเชิญให้เข้าร่วมสังเกตการณ์ การประชุมและมอบรางวัลวรรณกรรมลำน้ำโขง ครั้งที่ 4 (The Fourth Mekong River Literature Award Conference) เมื่อปี 55 ที่เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยได้ลงนามเข้าร่วมเป็นภาคีรางวัลนานาชาตินี้เป็นประเทศที่ 4 และในการประชุมและมอบรางวัลครั้งที่ 5 ที่เสียมราช กัมพูชา มีประเทศพม่าและจีน เข้าร่วมสังเกตการณ์จะมีการรับรองเข้าเป็นภาคีอย่างเป็นทางการในการประชุมสมาคมภาคีในเดือนสิงหาคม 2557 ที่ประเทศเวียดนาม
ที่ผ่านมาแต่ละประเทศจะมีงานฉลองและมอบรางวัลภายในให้กับนักเขียนจากรัฐบาล และมีสาส์นจากรัฐบาลของทุกประเทศแสดงความยินดีเป็นเรื่องสำคัญในพิธีการ
-------------
อุมมีสาลาม อุมาร : รายงาน จาก : กรุงเทพธุรกิจ เซ็กชั่นจุดประกาย วันอาทิตย์ 25 พฤษภาคม 2557
อ่านต่อ... |